Happy Memory@Ajanran

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Mnemonics คืออไร

1. ความหมายของเทคนิคช่วยจำ
เทคนิคช่วยจำ (Mnemonics) ถือว่าเป็นผลงานของมนุษย์ที่สามารถค้นพบวิธีการช่วยจำที่ได้ผลดีมากมานานนับเป็นพัน ๆ ปี เทคนิคช่วยจำเป็นวิธีการที่มนุษย์นิยมนำมาใช้จดจำสิ่งต่าง ๆ ในสมองของตน เพราะสิ่งที่ถูกเก็บไว้ในสมองด้วยวิธีการช่วยจำนั้น สามารถรื้อฟื้นหรือนำออกมาใช้เมื่อใดก็ได้ตามความต้องการ
สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญน์ (2532 : 184) ได้ให้ความหมายของเทคนิคความจำไว้ว่า วิธีที่ช่วยให้ความจำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แมคคอร์มิค และเลวิน (Lefrancois. 1995 : 267 ; citing McCoemick and Levin. 1987 : unpaged) กล่าวว่า เทคนิคช่วยจำ คือ วิธีการสำรวจปรับปรุงความจำให้ดีขึ้นอย่างเป็นระบบ
รีด (Reed. 1991 : 166) ได้กล่าวถึงเทคนิคความจำช่วยจำว่า เป็นกลยุทธ์ในการช่วยจำหรือยุทธศาสตร์ที่จะช่วยปรับปรุงการระลึกของเราให้ดีขึ้น
คาร์เนย์ และเลวิน (Sdorow and Rickabaugh. 2002 : 267 ; citing Carney and Levin. 1994 : unpaged) กล่าวว่า เทคนิคช่วยจำ คือ กลวิธีสำหรับรวบรวมข้อมูลข่าวสาร และการจัดเรียบเรียงความจำให้เป็นระบบ เพื่อง่ายต่อการระลึก
ซิมบาร์โด และเจอร์ริก (Zimbardo and Gerrig. 1995 : 367) กล่าวว่า เทคนิคช่วยจำเป็นวิธีการช่วยฟื้นความจำ และจัดกระทำข้อมูลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายให้เป็นระเบียบ
จากความหมายของเทคนิคช่วยจำข้างต้น สรุปได้ว่า เทคนิคช่วยจำคือ วิธีการจัดกระทำต่อข้อมูลที่ต้องการจำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเก็บรักษาไว้อย่างเป็นระบบ และง่ายต่อการจำและการระลึกออกมาใช้

2. ระบบเทคนิคความจำ
เยทส์, ลูเรีย, ฮันท์ และเลิฟ (สุรางค์ โค้วตระกูล. 2544 : 253 – 257 ; อ้างอิงมาจาก Yates. 1966 ; Luria. 1968 ; Hunt and Love. 1972 : unpaged) กล่าวว่า การสอนเทคนิคในการช่วยจำให้แก่นักเรียน ทำให้นักเรียนที่จะระลึกสิ่งที่เรียนรู้มาในแต่ละบทเรียนได้ดีกว่าการท่องซ้ำ ๆ โดยไม่มีความหมาย ฉะนั้นจึงมีการแนะนำให้ครูสอนเทคนิคในการช่วยความจำให้แก่นักเรียน เพื่อนักเรียนจะได้เก็บสิ่งที่เรียนรู้ไว้ในความทรงจำได้นาน ๆ ซึ่งเทคนิคในการช่วยจำที่ใช้กันมีอยู่ทั้งหมด 6 วิธี คือ
1. การเสียงสัมผัส (Rhymes)
2. การสร้างคำเพื่อช่วยความจำจากอักษรตัวแรกของแต่ละคำ (Acronym)
3. การสร้างประโยคที่มีความหมายจากตัวอักษรตัวแรกของคำ (Acrostic)
4. วิธี Peg Word
5. วิธีโลไซ (Loci)
6. วิธี Key Word

1.การสร้างเสียงสัมผัส (Rhymes) เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เปรียบกับจังหวะ นับว่า
ค่อนข้างใหม่ เชื่อกันว่าในโลกตะวันตกเริ่มจากพิธีกรรมในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก พระเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปในการเรียนรู้บทเพลง และคำสอนในรูปคำโต้ตอบเราชาวไทยต่างคุ้นเคยคำสัมผัสที่ช่วยให้เราจดจำ เราทุกคนเป็นหนี้บุญคุณของ ก. เอ๋ย ก. ไก่, ข ไข่ ในเล้า ฯลฯ บางคนอาจจำคำไทยที่ใช้ไม้ม้วนได้ทุกคำเพราะจดจำบทกลอนเก่าต่อไปนี้

ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู
จะใครลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี
ทำนองเดียวกันในภาษาอังกฤษก็มีคำกลอนเก่าสำหรับช่วยเด็กหรือผู้ใหญ่ให้จำการใช้ ie หรือ ei ในการสะกดคำศัพท์ว่า I before e except after c, or when sounded like a, as in neighbor or weigh (คำแปล : ไอ มาก่อน อี ยกเว้นตามหลัง ซี หรือเมื่อออกเสียง เอ เหมือนในตัว Neighbor หรือ Weigh ) (เจมส์ ดี วีนแลนด์. 2546 : 146)
2. การสร้างคำเพื่อช่วยความจำจากอักษรตัวแรก (Acronym) การสร้างคำเพื่อช่วยความจำวิธีนี้เป็นการนำเอาอักษรตัวแรกของแต่ละคำที่ต้องการจำมาเขียนเป็นคำใหม่ให้มีความหมายเช่น การจำชื่อทะเลสาบทั้ง 5 ของอเมริกา ได้แก่ ทะเลสาบ Huron, Ontario, Michigan, Erie ,Superior มาเขียนเป็นคำใหม่ว่า Homes หรือการจำทิศทั้ง 8 ของไทย ได้แก่ อุดร, อีสาน, บูรพา, อาคเนย์, ทักษิณ, หรดี, ปัจฉิม และพายัพ มาเขียนเป็นคำใหม่ว่า อุ-อี-บู-อา-ทัก-หอ-ปะ-พา
3. การสร้างประโยค (Acrostic) โดยการนำเอาอักษรตัวแรกของกลุ่มคำหรือสิ่งของมาสร้างเป็นประโยคใหม่ที่มีความหมาย อ่านแล้วเกิดความเข้าใจ เช่น การจำชื่อดาวเคราะห์ทั้ง 9 ดวง ในภาษาอังกฤษ ได้แก่ Mar, Venus, Jupiter, Saturn, Uranus, Neptune และ Pluto มาสร้างเป็นประโยคใหม่เป็น Men Very Easily Make Jugs Serve Useful New Purpose หรือการนำเอาจังหวัดทางภาคเหนือของไทยทั้ง 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ และน่าน มาสร้างเป็นประโยค คือ ชิดชัยมิลังเลเพียงพบอนงค์
4. วิธี Peg Word วิธีนี้เรียกเป็นไทยว่า ระบบหัวหมุดเป็นระบบจัดตู้เอกสารของสมองที่รวมเอาพวกคำนามที่เป็นรูปธรรมต่างๆ ที่เราต้องการจำเอาไว้ด้วยกัน คำนามเลือกมาอย่างเจาะจงเพื่อใช้แทนตัวเลข การนำเอาคำและตัวเลขมาผูกเป็นคำสัมผัสเพื่อช่วยให้จำง่าย เช่น การนำเอาคำศัพท์ภาษาอังกฤษ จับคู่กับตัวเลข ได้แก่ One-Bun Two-shoe Three-Tree Four-Show ระหว่างคำในภาษาไทยกับตัวเลข ได้แก่ หนึ่ง-อึ่ง สอง-ซอง สาม-ชาม สี่-ปี่ เป็นต้น
5. วิธีโลไซ (Loci) เป็นวิธีที่ใช้สำหรับการจำและสถานที่หรือตำแหน่งสิ่งของ เพื่อเป็นเครื่องหมายช่วยกำหนดความจำหรือนำเอาคำไปผูกไว้กับสถานที่หรือสิ่งของให้ได้ก่อน แล้วเรียงลำดับความเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง เช่น การจำสิ่งของภายในบ้าน ซึ่งภายในบ้านนั้นประกอบด้วย ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องพระ รวมทั้งสิ่งของที่จะจำ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องประดับตกแต่งหรืออาจจะเป็นเหตุการณ์ ความคิดก็ได้ นำสิ่งของที่จะจำเหล่านั้นไปเชื่อมโยงกับสถานที่ที่เราให้หมายเลขไว้ เมื่อต้องการที่จะนึกถึงสิ่งของที่ต้องการก็เริ่มจากหมายเลข 1,2,3,..ไปเรื่อยๆ
6.วิธี Key Word เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในการเรียนภาษาต่างประเทศ เป็นการเชื่อมโยงเสียงของคำกับความหมายของคำศัพท์ในภาษาตัวเอง พร้อมกับการจินตนาการไปด้วยเช่น การเชื่อมคำในภาษาอังกฤษกับภาษาไทย คำว่า Potato แปลว่ามันฝรั่ง อ่านว่า โพเทโท ส่วนคำในภาษาไทยที่ใช้เป็น Keyword คือ คำว่า โพ หรือ ต้นโพธิ์ เมื่อเราจำคำว่า Potato ให้เรานึกถึงต้นโพธิ์และมันฝรั่ง โดยจินตนาการว่ามีมันฝรั่งขึ้นอยู่ตามลูกตาเราและมีใบโพธิ์โผล่ขึ้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น